คดีแพ่ง

คดีผิดสัญญาจำนอง

           จำนอง คือ การที่บุคคลหนึ่งซึ่งเรียกว่า “ผู้จำนอง” เอาอสังหาริมทรัพย์ของตน ซึ่งอาจจะเป็น บ้าน ที่ดิน เป็นต้น ไปตราไว้กับอีกบุคคลหนึ่งเรียกว่า “ผู้รับจำนอง” เพื่อเป็นประกันในการชำระหนี้ โดยไม่ส่งมอบทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้รับจำนอง โดยการจำนองดังกล่าวทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งการจำนองนั้นประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บัญญัติมาตราที่สำคัญไว้ดังต่อไปนี้
           มาตรา 702 “อันว่าจำนองนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่ง เรียกว่า ผู้จำนอง เอาทรัพย์สินตราไว้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้รับจำนอง เป็นประกันการชำระหนี้ โดยไม่ส่งมอบทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้รับจำนอง
            ผู้รับจำนองชอบที่จะได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองก่อนเจ้าหนี้สามัญมิพักต้องพิเคราะห์ว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะได้โอนไปยังบุคคลภายนอกแล้วหรือหาไม่”
           มาตรา 714 “อันสัญญาจำนองนั้น ท่านว่าต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่”

คดีผิดสัญญากู้ยืม

           ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บัญญัติเรื่องการกู้ยืมเงินไว้ในมาตรา 653 “การกู้ยืมเงินกว่าสองพันบาทขึ้นไปนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่
           ในการกู้ยืมเงินมีหลักฐานเป็นหนังสือนั้น ท่านว่าจะนำสืบการใช้เงินได้ต่อเมื่อมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ให้ยืมมาแสดงหรือเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมนั้นได้เวนคืนแล้ว หรือได้แทงเพิกถอนลงในเอกสารนั้นแล้ว”
          ทั้งนี้เกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยตามกฎหมายเป็นไปตามพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ.2564 แก้ไขอัตราดอกเบี้ยในกรณีที่ต้องมีการเสียดอกเบี้ยปกติ แต่ไม่ได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้โดยนิติกรรมหรือโดยบทกฎหมายอันชัดแจ้ง ดังต่อไปนี้
          1.แก้ไขอัตราดอกเบี้ยในกรณีที่ต้องมีการเสียดอกเบี้ยปกติ แต่ไม่ได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้โดยนิติกรรมหรือโดยบทกฎหมายอันชัดแจ้ง จากเดิมร้อยละ 7.5 ต่อปี เป็นร้อยละ 3 ต่อปี
          2.แก้ไขอัตราดอกเบี้ยผิดนัด (กรณีไม่ได้กำหนดเป็นอย่างอื่น) จากเดิมร้อยละ 7.5 ต่อปี (ให้คิดในอัตราร้อยละ 3 ต่อปี (ในอัตราที่กำหนดตามมาตรา 7) บวกด้วยอัตราเพิ่ม ร้อยละ 2 ต่อปี) เป็นร้อยละ 5 ต่อปี
          3.การคิดดอกเบี้ยผิดนัด กรณีต้องจ่ายเป็นงวด จากเดิมคำนวณจากเงินต้นคงค้างทั้งหมด เป็นกำหนดให้คิดดอกเบี้ย ในระหว่างผิดนัดได้แต่เฉพาะต้นเงินที่มีการผิดนัดและไม่สามารถตกลงกันเป็นอย่างอื่นได้

คดีผิดสัญญาซื้อขาย

          ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บัญญัติความหมายของสัญญาซื้อขายที่สำคัญไว้ดังนี้
          กรณีซื้อขายสังหาริมทรัพย์ มาตรา 453 “อันว่าซื้อขายนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลฝ่ายหนึ่ง เรียกว่าผู้ขาย โอนกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สินให้แก่บุคคลอีกฝ่ายหนึ่ง เรียกว่าผู้ซื้อ และผู้ซื้อตกลงว่าจะใช้ราคาทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้ขาย”
          กรณีซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ มาตรา 456 “การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ถ้ามิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นโมฆะ วิธีนี้ให้ใช้ถึงซื้อขายเรือมีระวางตั้งแต่ห้าตันขึ้นไป ทั้งซื้อขายแพและสัตว์พาหนะด้วย
            สัญญาจะขายหรือจะซื้อ หรือคำมั่นในการซื้อขายทรัพย์สินตามที่ระบุไว้ในวรรคหนึ่ง ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายผู้ต้องรับผิดเป็นสำคัญ หรือได้วางประจำไว้ หรือได้ชำระหนี้บางส่วนแล้ว จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่
            บทบัญญัติที่กล่าวมาในวรรคก่อนนี้ ให้ใช้บังคับถึงสัญญาซื้อขายสังหาริมทรัพย์ซึ่งตกลงกันเป็นราคาสองหมื่นบาท หรือกว่านั้นขึ้นไปด้วย”
          อายุความคดีผิดสัญญาซื้อขายจะมีระยะเวลาที่แตกต่างกันตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ทั้งนี้อายุความเริ่มนับแต่วันที่สามารถใช้สิทธิเรียกร้องได้

  1. กรณีฟ้องขอให้บังคับตามสัญญามีอายุความ 10 ปี
  2. กรณีซื้อสินค้าเพื่อไปใช้เองหรือในกิจการของตนเองมีอายุความ 2 ปี
  3. กรณีซื้อสินค้าไปเพื่อดำเนินกิจการอีกต่อหนึ่งมีอายุความ 5 ปี
  4. กรณีฟ้องให้รับผิดในความชำรุดบกพร่องมีอายุความ 1 ปี

คดีที่ดิน

          ที่ดินถือเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่สำคัญอย่างหนึ่ง ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 139 “อสังหาริมทรัพย์ หมายความว่า ที่ดินและทรัพย์อันติดอยู่กับที่ดิน มีลักษณะเป็นการถาวรหรือประกอบเป็นอันเดียวกับที่ดินนั้น และหมายความรวมถึงทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับที่ดินหรือทรัพย์อันติดอยู่กับ ที่ดินหรือประกอบเป็นอันเดียวกับที่ดินนั้นด้วย” โดยข้อพิพาทที่เกี่ยวกับที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อื่นที่สำคัญมีดังนี้

          1.คดีครอบครองปรปักษ์
          ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 “บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้ โดยความสงบ และโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกัน เป็นเวลาห้าปีไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์”
          2.คดีฟ้องเรียกที่ดินคืน
          ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา 1375 “ถ้าผู้ครอบครองถูกแย่งการครอบครองโดยมิชอบด้วยกฎหมายไซร้ ท่านว่าผู้ครอบครองมีสิทธิจะได้คืนซึ่งการครอบครอง เว้นแต่อีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิเหนือทรัพย์สินดีกว่าซึ่งจะเป็นเหตุให้เรียกคืนจากผู้ครอบครองได้
          การฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองนั้น ท่านว่าต้องฟ้องภายในปีหนึ่งนับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครอง”
          3.คดีทางจำเป็น
          ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1350 “ถ้าที่ดินแบ่งแยกหรือแบ่งโอนกันเป็นเหตุให้แปลงหนึ่งไม่มีทางออกไปสู่ทางสาธารณะไซร้ ท่านว่าเจ้าของที่ดินแปลงนั้นมีสิทธิเรียกร้องเอาทางเดินตามมาตราก่อนได้เฉพาะบนที่ดินแปลงที่ได้แบ่งแยกหรือแบ่งโอนกันและไม่ต้องเสียค่าทดแทน”
          4.คดีภาระจำยอม
          ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา 1387 “อสังหาริมทรัพย์อาจต้องตกอยู่ในภาระจำยอมอันเป็นเหตุให้เจ้าของต้องยอมรับกรรมบางอย่างซึ่งกระทบถึงทรัพย์สินของตน หรือต้องงดเว้นการใช้สิทธิบางอย่างอันมีอยู่ในกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินนั้น เพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์อื่น”
          มาตรา 1401 “ภาระจำยอมอาจได้มาโดยอายุความ ท่านให้นำบทบัญญัติว่าด้วยอายุความได้สิทธิอันกล่าวไว้ในลักษณะ 3 แห่งบรรพนี้มาใช้บังคับโดยอนุโลม”
          5.คดีที่ดินอื่นๆ อาทิเช่น ผิดสัญญาซื้อขายที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์  คดีครอบครองที่ดินแทน คดีฟ้องขอแบ่งแยกกรรมสิทธิ์ในที่ดิน คดีขายฝากที่ดิน เป็นต้น

คดีฟ้องขับไล่

          การฟ้องขับไล่ คือ กรณีที่เจ้าของกรรมสิทธิ์หรือผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ ใช้สิทธิตามกฎหมายในการฟ้องบังคับขับไล่บุคคลรวมถึงบริวารที่เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือ ครอบครองอยู่อาศัยเมื่อพ้นกำหนดเวลาตามสัญญา เป็นต้น การฟ้องขับไล่ในคดีแพ่งนั้นมีมูลเหตุในการฟ้องได้หลายมูลเหตุที่สำคัญ ได้แก่
          1.ละเมิด คือ การอาศัยอยู่ในที่ดินของผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือเมื่อครบกำหนดระยะเวลาตามสัญญา
          2.สิทธิอาศัย คือ เมื่อหมดสิทธิในการอาศัยแล้ว เจ้าของฟ้องขับไล่ให้ออกจากอสังหาริมทรัพย์ได้
          3.กรณีฟ้องขับไล่อื่นๆ เช่น สิทธิเหนือพื้นดิน สิทธิเก็บกิน สิทธิในการเช่า เป็นต้น
          นอกจากการฟ้องขับไล่จะเป็นการฟ้องเป็นคดีแพ่งแล้ว อาจเป็นคดีอาญาในข้อหาหรือฐานความผิดบุกรุกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362-366 ได้ (แล้วแต่กรณี)

คดีละเมิด

          ในคดีความผิดเกี่ยวกับการกระทำละเมิดนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บัญญัติไว้ดังต่อไปนี้
          -กรณีละเมิดทั่วไป มาตรา 420 “ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น”
          -กรณีใช้สิทธิของตนโดยมิชอบ มาตรา 420 “การใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะให้เกิดเสียหายแก่บุคคลอื่นนั้น ท่านว่าเป็นการอันมิชอบด้วยกฎหมาย”
          -กรณีละเมิดโดยการหมิ่นประมาทผู้อื่น มาตรา 423 “ผู้ใดกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริง เป็นที่เสียหายแก่ชื่อเสียงหรือเกียรติคุณของบุคคลอื่นก็ดี หรือเป็นที่เสียหายแก่ทางทำมาหาได้หรือทางเจริญของเขาโดยประการอื่นก็ดี ท่านว่าผู้นั้นจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่เขาเพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ อันเกิดแต่การนั้น แม้ทั้งเมื่อตนมิได้รู้ว่าข้อความนั้นไม่จริง แต่หากควรจะรู้ได้
          ผู้ใดส่งข่าวสารอันตนมิได้รู้ว่าเป็นความไม่จริง หากว่าตนเองหรือผู้รับข่าวสารนั้นมีทางได้เสียโดยชอบในการนั้นด้วยแล้ว ท่านว่าเพียงที่ส่งข่าวสารเช่นนั้นหาทำให้ผู้นั้นต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่”
          -กรณีลูกจ้างกระทำละเมิด
          มาตรา 425 “นายจ้างต้องร่วมกันรับผิดกับลูกจ้างในผลแห่งละเมิด ซึ่งลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้างนั้น”
          มาตรา 426 “นายจ้างซึ่งได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บุคคลภายนอกเพื่อละเมิดอันลูกจ้างได้ทำนั้น ชอบที่จะได้ชดใช้จากลูกจ้างนั้น”
          -กรณีผู้รับจ้างกระทำละเมิด
          มาตรา 428 “ผู้ว่าจ้างทำของไม่ต้องรับผิดเพื่อความเสียหายอันผู้รับจ้างได้ก่อให้เกิดขึ้นแก่บุคคลภายนอกในระหว่างทำการงานที่ว่าจ้าง เว้นแต่ผู้ว่าจ้างจะเป็นผู้ผิดในส่วนการงานที่สั่งให้ทำ หรือในคำสั่งที่ตนให้ไว้ หรือในการเลือกหาผู้รับจ้าง”       

คดีมรดก

          คดีมรดก หมายถึง คดีที่ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของเจ้ามรดกมีข้อพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในการรับมรดกตามกฎหมายหรือตามพินัยกรรมทายาท แล้วแต่กรณี ซึ่งคดีที่เกี่ยวกับมรดกที่สำคัญมีดังนี้
          -คดีร้องขอเป็นผู้จัดการมรดก
                   เมื่อเจ้ามรดกถึงแก่ความตายผู้มีสิทธิร้องขอต่อศาลเพื่อตั้งผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1713 “ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการจะร้องต่อศาลขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกก็ได้ ในกรณีดังต่อไปนี้
                   (1) เมื่อเจ้ามรดกตาย ทายาทโดยธรรมหรือผู้รับพินัยกรรมได้สูญหายไป หรืออยู่นอกราชอาณาเขต หรือเป็นผู้เยาว์
                   (2) เมื่อผู้จัดการมรดกหรือทายาทไม่สามารถ หรือไม่เต็มใจที่จะจัดการ หรือมีเหตุขัดข้องในการจัดการ หรือในการแบ่งปันมรดก
                   (3) เมื่อข้อกำหนดพินัยกรรมซึ่งตั้งผู้จัดการมรดกไว้ไม่มีผลบังคับได้ด้วยประการใดๆ
                    การตั้งผู้จัดการมรดกนั้น ถ้ามีข้อกำหนดพินัยกรรมก็ให้ศาลตั้งตามข้อกำหนดพินัยกรรม และถ้าไม่มีข้อกำหนดพินัยกรรม ก็ให้ศาลตั้งเพื่อประโยชน์แก่กองมรดกตามพฤติการณ์และโดยคำนึงถึงเจตนาของเจ้ามรดก แล้วแต่ศาลจะเห็นสมควร”
                   โดยทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกตามกฎหมายจะเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629 และ มาตรา 1635 ซึ่งได้แก่ สามีหรือภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้สืบสันดาน บิดามารดา พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน ปู่ ย่า ตา ยาย ลุง ป้า น้า อา
          -คดีร้องขอถอดถอนผู้จัดการมรดก
                   ในกรณีที่ศาลมีคำสั่งแต่งตั้งผู้จัดการมรดกแล้ว หากปรากฎต่อมาว่าผู้จัดการมรดกคนดังกล่าวไม่ปฎิบัติหน้าที่หรือกระทำการใดอันไม่ชอบด้วยกฎหมายดังที่กฎหมายกำหนด ผู้มีส่วนได้เสียมีสิทธิที่จะยื่นคำร้องขอถอนผู้จัดการมรดกคนดังกล่าวได้ ซึ่งเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
                   มาตรา 1727 “ผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งคนใดจะร้องขอให้ศาลสั่งถอนผู้จัดการมรดก เพราะเหตุผู้จัดการมรดกละเลยไม่ทำการตามหน้าที่ หรือเพราะเหตุอย่างอื่นที่สมควรก็ได้ แต่ต้องร้องขอเสียก่อนที่การปันมรดกเสร็จสิ้นลง
                    แม้ถึงว่าจะได้เข้ารับตำแหน่งแล้วก็ดี ผู้จัดการมรดกจะลาออกจากตำแหน่งโดยมีเหตุอันสมควรก็ได้ แต่ต้องได้รับอนุญาตจากศาล”
          -คดีฟ้องขอแบ่งทรัพย์มรดก
                   หากผู้จัดการมรดกไม่ปฎิบัติหน้าที่โดยการไม่จัดสรรแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกตามกฎหมาย ถือได้ว่าผู้จัดการมรดกไม่กระทำตามหน้าที่ของผู้จัดการมรดก ถือเป็นการโต้แย้งสิทธิของทายาทผู้มีสิทธิรับมรดก ดังนั้นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกจึงฟ้องของแบ่งทรัพย์มรดกต่อศาลได้ โดยจะเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 “ห้ามมิให้ฟ้องคดีมรดกเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปี นับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย หรือนับแต่เมื่อทายาทโดยธรรมได้รู้ หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก
                     คดีฟ้องเรียกตามข้อกำหนดพินัยกรรม มิให้ฟ้องเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่เมื่อผู้รับพินัยกรรมได้รู้หรือควรได้รู้ถึงสิทธิซึ่งตนมีอยู่ตามพินัยกรรม
                    ภายใต้บังคับแห่งมาตรา 193/27 แห่งประมวลกฎหมายนี้ ถ้าสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้อันมีต่อเจ้ามรดกมีกำหนดอายุความยาวกว่าหนึ่งปี มิให้เจ้าหนี้นั้นฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่เมื่อเจ้าหนี้ได้รู้ หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก
                    ถึงอย่างไรก็ดี สิทธิเรียกร้องตามที่ว่ามาในวรรคก่อน ๆ นั้น มิให้ฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนดสิบปีนับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย” 

คดีเพิกถอนนิติกรรม

          ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 “เจ้าหนี้ชอบที่จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนเสียได้ซึ่งนิติกรรมใดๆ อันลูกหนี้ได้กระทำลงทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ แต่ความข้อนี้ท่านมิให้ใช้บังคับ ถ้าปรากฏว่าในขณะที่ทำนิติกรรมนั้น บุคคลซึ่งเป็นผู้ได้ลาภงอกแต่การนั้นมิได้รู้เท่าถึงข้อความจริงอันเป็นทางให้เจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบนั้นด้วย แต่หากกรณีเป็นการทำให้โดยเสน่หา ท่านว่าเพียงแต่ลูกหนี้เป็นผู้รู้ฝ่ายเดียวเท่านั้นก็พอแล้วที่จะขอเพิกถอนได้
          บทบัญญัติดังกล่าวมาในวรรคก่อนนี้ ท่านมิให้ใช้บังคับแก่นิติกรรมใดอันมิได้มีวัตถุเป็นสิทธิในทรัพย์สิน”
         
จากบทบัญญัติดังกล่าวจะเห็นได้ว่านิติกรรมใดที่กระทำไปแล้วทำให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ ได้รับความเสียหาย ถือได้ว่าเป็นนิติกรรมที่ได้กระทำโดยฉ้อฉล นิติกรรมที่เป็นโมฆะ เจ้าหนี้จึงมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลเพื่อขอศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนนิติกรรมนั้นได้ เช่น การฟ้องเพิกถอนการซื้อขายที่ดิน การฟ้องเพิกถอนการซื้อขายคอนโดมีเนียม การฟ้องเพิกถอนนิติกรรมการให้ เป็นต้น

คดีแพ่งอื่นๆ

          นอกจากคดีแพ่งต่างๆที่กล่าวมาในข้างต้นแล้ว ยังมีคดีแพ่งในข้อหาอื่นๆอีกจำนวนมาก ได้แก่ คดีผิดสัญญาขายฝาก คดีจำนำ คดีเรียกคืนทรัพย์ คดีขอเฉลี่ยทรัพย์ คดีเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนบริษัท เช่น ฟ้องเพิกถอนมติที่ประชุมฯ เป็นต้น