คดีอาญา

          คดีอาญา หมายถึง คดีที่กฎหมายบัญญัติเกี่ยวกับการกระทำใดเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ เช่น ประมวลกฎหมายอาญา และกฎหมายอื่น เช่น พระราชบัญญัติต่างๆ โดยกำหนดโทษในทางอาญาไว้ ซึ่งโทษทางอาญา มี 5 สถาน ได้แก่ ประหารชีวิต จำคุก กักขัง ปรับ และริบทรัพย์สิน
          คดีอาญาส่วนใหญ่เป็นคดีความผิดเกี่ยวกับชีวิต ร่าย ทรัพย์สิน ชื่อเสียงของบุคคล เช่น คดีทำร้ายร่างกาย คดีบุกรุก คดีเช็ค คดีฉ้อโกง คดียักยอก คดีปลอมเอกสาร คดีหมิ่นประมาท เป็นต้น รวมถึงการแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีอาญา
          การดำเนินคดีอาญาต้องผู้ต้องหาหรือจำเลยนั้น สามารถทำได้ด้วยการมอบหมายให้ทนายความฟ้องร้องดำเนินต่อศาล หรือ แจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน ก็ได้

คดีทำร้ายร่างกาย

          ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 บัญญัติว่า “ผู้ใดทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กาย หรือจิตใจของผู้อื่นนั้น ผู้นั้นกระทำความผิดฐานทำร้าย ร่างกาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ“
          เมื่อผู้เสียหายถูกทำร้ายร่างกายอันเป็นความผิดต่อกฎหมายดังกล่าว ทนายความจะดำเนินการให้ปรึกษาข้อกฎหมาย คำแนะนำต่างๆ เพื่อรวบรวมข้อเท็จจริง พยานหลักฐานต่างๆที่เกี่ยวข้องที่จำเป็นในการดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด โดยอาจเป็นการฟ้องร้องดำเนินคดีต่อศาลหรือการแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน แล้วแต่กรณี นอกจากนี้ทนายความยังจะดำเนินการเรียกค่าเสียหายตามกฎหมายในคดีอาญาดังกล่าวที่เกิดขึ้นกับผู้เสียหายอีกด้วย

คดีบุกรุก

          ตามประมวลกฎหมายอาญา ความผิดฐานบุกรุก ประมวลกฎหมายอาญากำหนดความผิดและอัตราโทษไว้ดังต่อไปนี้
           มาตรา 362 บัญญัติว่า “ผู้ใดเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นเพื่อครอบครองอสังหาริมทรัพย์นั้นทั้งหมดหรือแต่บางส่วน หรือเข้าไปกระทำการใด ๆ อันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของเจ้าของ โทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
           มาตรา 363 “การยักย้ายหรือทำลายเครื่องหมาย เขตอสังหาริมทรัพย์ มีความผิด โทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
           มาตรา 364 บัญญัติว่า “ ผู้ใดโดยไม่มีเหตุอันสมควร เข้าไปหรือซ่อนตัวอยู่ในเคหสถาน อาคารเก็บรักษาทรัพย์หรือสำนักงานในความครอบครองของผู้อื่น หรือไม่ยอมออกไปจากสถานที่เช่นว่านั้นเมื่อผู้มีสิทธิที่จะห้ามมิให้เข้าไปได้ไล่ให้ออก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
           มาตรา 365 บัญญัติว่า “ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา 362 มาตรา 363 หรือมาตรา 364 ได้กระทำ
          (1) โดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย
          (2) โดยมีอาวุธหรือโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป หรือ
          (3) ในเวลากลางคืน
          ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ        
           มาตรา 366 บัญญัติว่า “ความผิดในหมวดนี้ นอกจากความผิดตามมาตรา 365 เป็นความผิดอันยอมความได้”
          ตามบทบัญญัติดังกล่าวข้างต้นนั้นจะเห็นว่านอกจากมาตรา 365 แล้ว ความผิดข้อหาบุกรุกในมาตราอื่นถือว่าเป็นความผิดอันยอมความได้ ผู้เสียหายจากการกระทำความผิดดังกล่าวมีสิทธิแต่งตั้งให้ทนายความยื่นฟ้องคดีต่อศาลได้โดยตรงหรือจะแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนโดยมีทนายความดำเนินการแทนก็ได้เช่นเดียวกัน

คดีเช็ค

                    พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 บัญญัติว่าผู้ใดออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายโดยมีลักษณะหรือมีการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้
                   (1) เจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้น
                   (2) ในขณะที่ออกเช็คนั้นไม่มีเงินอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้
                   (3) ให้ใช้เงินมีจำนวนสูงกว่าจำนวนเงินที่มีอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้ในขณะที่ออกเช็คนั้น
                   (4) ถอนเงินทั้งหมดหรือแต่บางส่วนออกจากบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินตามเช็คจนจำนวนเงินเหลือไม่เพียงพอที่จะใช้เงินตามเช็คนั้นได้
                   (5) ห้ามธนาคารมิให้ใช้เงินตามเช็คนั้นโดยเจตนาทุจริต
                   เมื่อได้มีการยื่นเช็คเพื่อให้ใช้เงินโดยชอบด้วยกฎหมาย ถ้าธนาคารปฏิเสธไม่ใช้เงินตามเช็คนั้น ผู้ออกเช็คมีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือทั้งปรับทั้งจำ
เนื่องจากคดีเช็คเป็นคดีความผิดอันยอมความได้ ดังนั้นการฟ้องร้องดำเนินต่อศาลหรือแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนจึงต้องกระทำภายในกำหนดเวลา 3 เดือนนับแต่วันที่เช็คถูกปฎิเสธการจ่ายเงิน โดยทนายความจะดำเนินรวบรวมพยานหลักฐานเกี่ยวกับมูลหนี้ที่สั่งจ่ายเช็ค ต้นฉบับเช็ค เพื่อจะดำเนินการทางกฎหมายตามที่จำเป็นเพื่อให้ผู้เสียหายได้รับเงินตามเช็คคืนและ/หรือให้ผู้กระทำความผิดได้รับโทษทางกฎหมาย

คดีฉ้อโกง

           ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 บัญญัติว่า ผู้ใดโดยทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม หรือทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม ทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานฉ้อโกง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
           มาตรา 342 บัญญัติว่า “ถ้าในการกระทำความผิดฐานฉ้อโกง ผู้กระทำ
               (1) แสดงตนเป็นคนอื่น หรือ
               (2) อาศัยความเบาปัญญาของผู้ถูกหลอกลวงซึ่งเป็นเด็ก หรืออาศัยความอ่อนแอแห่งจิตของผู้ถูกหลอกลวง
           ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
           มาตรา 343 บัญญัติว่า ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา 341 ได้กระทำด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชน หรือด้วยการปกปิดความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ประชาชน ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
           ถ้าการกระทำความผิดดังกล่าวในวรรคแรก ต้องด้วยลักษณะดังกล่าวในมาตรา 342 อนุมาตราหนึ่งอนุมาตราใดด้วย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงเจ็ดปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนสี่หมื่นบาท”
          มาตรา 348 “ความผิดในหมวดนี้ นอกจากความผิดตามมาตรา 343 เป็นความผิดอันยอมความได้”
          จากบทบัญญัติดังกล่าวข้างต้นจะเห็นว่า นอกจากความผิดในมาตรา 343 แล้วความผิดฐานฉ้อโกงในลักษณะตามมาตราอื่นในหมมวดนี้ถือเป็นคดีความผิดอันยอมความได้ การฟ้องร้องดำเนินคดีจะต้องกระทำภายในระยะเวลา 3 เดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องและรู้ตัวผู้กระทำคามผิด หรือจะต้องแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนภายในระยะเวลา 3 เดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องและรู้ตัวผู้กระทำคามผิดเช่นเดียวกัน มิฉะนั้นแล้ว คดีเป็นอันขาดอายุความ สิทธิการฟ้องร้องดำเนินคดีย่อมระงับไป ดังนั้นผู้เสียหายที่ถูกหลอกลวง ปิดบัง ทำให้เสียไปซึ่งทรัพย์สินอันเป็นความผิดฐานฉ้อโกงจึงต้องปรึกษาทนายความเพื่อดำเนินการทางกฎหมายอย่างทันท่วงที มิฉะนั้นอาจทำให้เสียสิทธิตามกฎหมายได้

คดียักยอกทรัพย์

          คดีความผิดฐานยักยอกทรัพย์นั้น ประมวลกฎหมายอาญามีบัญญัติไว้ดังนี้
          มาตรา 352 “ผู้ใดครอบครองทรัพย์ซึ่งเป็นของผู้อื่น หรือซึ่งผู้อื่น เป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคล ที่สามโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานยักยอก ต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
“ถ้าทรัพย์นั้นได้ตกมาอยู่ในความครอบครองของผู้กระทำความผิด เพราะผู้อื่นส่งมอบให้โดยสำคัญผิดไปด้วยประการใด หรือเป็นทรัพย์ สินหายซึ่งผู้กระทำความผิดเก็บได้ ผู้กระทำต้องระวางโทษแต่เพียงกึ่งหนึ่ง”
          มาตรา 353
“ผู้ใดได้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์สินของผู้อื่นหรือ ทรัพย์สินซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย กระทำผิดหน้าที่ของตนด้วย ประการใด ๆ โดยทุจริต จนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินของผู้นั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” 
          มาตรา 354
“ถ้าการกระทำความผิดตาม มาตรา 352 หรือ มาตรา 353 ได้กระทำในฐานที่ผู้กระทำความผิดเป็นผู้จัดการทรัพย์สินของ ผู้อื่น ตามคำสั่งของศาล หรือตามพินัยกรรม หรือในฐานเป็นผู้มีอาชีพ หรือธุรกิจ อันย่อมเป็นที่ไว้วางใจของประชาชน ผู้กระทำต้องระวาง โทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” 
          มาตรา 355
“ผู้ใดเก็บได้ซึ่งสังหาริมทรัพย์อันมีค่า อันซ่อนหรือฝัง ไว้โดยพฤติการณ์ซึ่งไม่มีผู้ใดอ้างว่าเป็นเจ้าของได้ แล้วเบียดบังเอา ทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือของผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” 
          มาตรา 356
“ความผิดในหมวดนี้เป็นความผิดอันยอมความได้”
          จากบทบัญญัติดังกล่าวข้างต้นจะเห็นว่า ความผิดอาญาฐานยักยอกทรัพย์นั้น เป็นคดีความผิดที่ยอมความกันได้ ดังนั้นการฟ้องร้องดำเนินคดีและหรือแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเพื่อให้ดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดจะต้องกระทำภายใน 3 เดือนนับแต่วันที่ผู้เสียหายรู้เรื่องและรู้ตัวผู้กระทำความผิด นอกจากนี้คดียักยอกทรัพย์ยังเป็นความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ ผู้เสียหายจึงมีสิทธิเรียกร้องทรัพย์หรือราคาทรัพย์คืนจากผู้กระทำความผิดได้ตามกฎหมาย

คดีปลอมแปลงเอกสาร

          ความผิดฐานปลอมแปลงเอกสาร เอกสารสิทธิ เอกสารราชการ รวมถึงการใช้หรืออ้างเอกสารเหล่านั้น ถือเป็นความผิดเกี่ยวกับเอกสารตามกฎหมายซึ่งมีโทษทางอาญาทั้งสิ้นแตกต่างกันไป ซึ่งผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการกระทำดังกล่าวมีสิทธิที่จะดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดได้โดยการฟ้องร้องคดีโดยมอบหมายให้ทนายความดำเนินการหรือการแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนก็ได้เช่นเดียวกัน โดยทนายความมีหน้าที่ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการดำเนินการคดี การรวบรวมพยานหลักฐานแก่ลูกความ โดยความผิดเกี่ยวกับเอกสารข้างต้นนี้ถูกบัญญัติไว้ตามประมวลกฎหมายอาญาดังนี้
           มาตรา 264 “ผู้ใดทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใด เติมหรือตัดทอนข้อความ หรือแก้ไขด้วยประการใด ๆ ในเอกสารที่แท้จริง หรือประทับตราปลอม หรือลงลายมือชื่อปลอมในเอกสาร โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ถ้าได้กระทำเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานปลอมเอกสาร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
            ผู้ใดกรอกข้อความลงในแผ่นกระดาษหรือวัตถุอื่นใด ซึ่งมีลายมือชื่อของผู้อื่นโดยไม่ได้รับความยินยอม หรือโดยฝ่าฝืนคำสั่งของผู้อื่นนั้น ถ้าได้กระทำเพื่อนำเอาเอกสารนั้นไปใช้ในกิจการที่อาจเกิดเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือประชาชน ให้ถือว่าผู้นั้นปลอมเอกสาร ต้องระวางโทษเช่นเดียวกัน”
           มาตรา  265 “ผู้ใดปลอมเอกสารสิทธิ หรือเอกสารราชการ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงห้าปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท”
           มาตรา  266 “ผู้ใดปลอมเอกสารดังต่อไปนี้
               (1) เอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการ
               (2) พินัยกรรม
               (3) ใบหุ้น ใบหุ้นกู้ หรือใบสำคัญของใบหุ้นหรือใบหุ้นกู้
               (4) ตั๋วเงิน หรือ
               (5) บัตรเงินฝาก
               ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท”
           มาตรา 268 “ผู้ใดใช้หรืออ้างเอกสารอันเกิดจากการกระทำความผิดตามมาตรา 264 มาตรา 265 มาตรา 266 หรือมาตรา 267 ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ต้องระวางโทษดังที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้น ๆ
           ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคแรกเป็นผู้ปลอมเอกสารนั้น หรือเป็นผู้แจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความนั้นเองให้ลงโทษตามมาตรานี้แต่กระทงเดียว”

คดีหมิ่นประมาท

         ความผิดฐานหมิ่นประมาทนั้น ตามประมวลกฎหมายอาญาแล้วถือเป็นความผิดอันยอมความได้ ผู้เสียหายจำต้องฟ้องร้องดำเนินคดีต่อศาลหรือแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนภายใน 3 เดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องและรู้ตัวผู้กระทำความผิด มิฉะนั้นคดีเป็นอันขนาดอายุความ และเนื่องจากคดีความผิดฐานหมิ่นประมาทนั้นเป็นการกระทำที่อาจทำให้ผู้เสียหายได้รับความเสียหายแก่ชื่อเสียง ถูกเกลียดชังจากผู้อื่น ผู้เสียหายจึงมีเรียกค่าเสียหายส่วนนี้ได้ตามกฎหมายจากผู้กระทำความผิดได้ ซึ่งประมวลกฎหมายอาญาบัญญัติคดีความผิดฐานหมิ่นประมาทที่สำคัญไว้ดังนี้
          มาตรา 326 “ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะ ทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือ ปรับไม่เกินสองหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
          มาตรา 328 ถ้าความผิดฐานหมิ่นประมาทได้กระทำโดยการโฆษณา ด้วยเอกสาร ภาพวาด ภาพระบายสี ภาพยนตร์ ภาพหรือตัวอักษรที่ ทำให้ปรากฏด้วยวิธีใด ๆ แผ่นเสียง หรือสิ่งบันทึกเสียง บันทึกภาพ หรือบันทึกอักษร กระทำโดยการกระจายเสียง หรือการกระจายภาพ หรือโดยกระทำการป่าวประกาศด้วยวิธีอื่น ผู้กระทำต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกินสองปีและปรับไม่เกินสองแสนบาท”
          มาตรา 329 “ผู้ใดแสดงความคิดเห็นหรือข้อความใดโดยสุจริต
          (1) เพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม
          (2) ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติการตามหน้าที่
          (3) ติชมด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัย ของประชาชนย่อมกระทำ หรือ
          (4) ในการแจ้งข่าวด้วยความเป็นธรรม เรื่องการดำเนินการอันเปิด เผยในศาลหรือในการประชุม
          ผู้นั้นไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท”
          มาตรา 333 “ความผิดในหมวดนี้เป็นความผิดอันยอมความได้
          ถ้าผู้เสียหายในความผิดฐานหมิ่นประมาทตายเสียก่อนร้องทุกข์ ให้บิดามารดา คู่สมรส หรือบุตรของผู้เสียหายร้องทุกข์ได้ และให้ถือว่าเป็นผู้เสียหาย”

คดีอาญาอื่นๆ

          นอกจากคดีอาญาฐานความผิดต่างๆข้างต้นแล้ว ยังมีความผิดอาญาในข้อหาหรือฐานความผิดอื่นๆอีกมากมาย ทั้งที่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาและตามกฎหมายอื่นๆที่กำหนดเป็นความผิดและกำหนดโทษในทางอาญาไว้ อาทิเช่น พรบ.ความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ , พรบ.ความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนฯ , พรบ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลฯ , พรบ.ควบคุมอาคารฯ เป็นต้น