คดีผู้บริโภค

          ตาม พรบ.คุ้มครองคดีผู้บริโภค พ.ศ.2552  พรบ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551  พรบ.ความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ.2551
          คดีผู้บริโภค คือ
          1. คดีแพ่งระหว่างผู้บริโภคหรือผู้มีอำนาจฟ้องคดีแทนผู้บริโภคตามมาตรา 19 หรือตามกฎหมายอื่น กับผู้ ประกอบธุรกิจซึ่งพิพาทกันเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ตามกฎหมายอันเนื่องมาจากการบริโภคสินค้าหรือบริการ
          2. คดีแพ่งตามกฎหมายเกี่ยวกับความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย
          3. คดีแพ่งที่เกี่ยวพันกันกับคดีตาม 1 หรือ 2

          ผู้เกี่ยวข้องในคดี
          1. ผู้บริโภค หมายถึง ผู้ซื้อหรือผู้ได้รับบริการจากผู้ประกอบธุรกิจ หรือผู้ซึ่งได้รับการเสนอหรือการชักชวนจากผู้ประกอบธุรกิจเพื่อให้ซื้อสินค้าหรือรับบริการและหมายความรวมถึง ผู้ใช้สินค้าหรือผู้ได้รับบริการจากผู้ประกอบธุรกิจโดยชอบ แม้มิได้เป็นผู้เสียค่าตอบแทนก็ตาม
          2. ผู้ประกอบธุรกิจ หมายถึง ผู้ขาย ผู้ผลิตเพื่อขาย ผู้สั่งหรือนำเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อขายหรือผู้ซื้อเพื่อขายต่อซึ่งสินค้าหรือผู้ให้บริการ
          3. ผู้เสียหาย หมายถึง ผู้ได้รับความเสียหายที่เกิดจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัยไม่ว่าจะ เป็นความเสียหายต่อชีวิตร่างกายสุขภาพอนามัยจิตใจหรือทรัพย์สินแต่ไม่รวมถึงความเสียหายต่อสินค้าที่ไม่ปลอดภัยนั้น
          ตัวอย่างคดีผู้บริโภคที่สำคัญที่มักเป็นคดีความขึ้นสู่ศาล มีดังนี้

          1.คดีซื้อขาย เช่น ที่ดิน บ้าน อาคารพาณิชย์ ห้องชุด สินค้าอุปโภคบริโภค
          2. คดีเช่าทรัพย์ เช่น ที่ดิน บ้าน ห้องชุด
          3. คดีเช่าซื้อ เช่น รถยนต์ รถจักรยานยนต์
          4. คดีจ้างทำของ เช่น ก่อสร้าง ต่อเติม ซ่อมแซมบ้าน
          5. คดีรับขน เช่น บริการขนส่งสินค้าทางอากาศ ทางน้ำหรือทางบก
          6. คดีสินเชื่อส่วนบุคคล กู้ยืม ค้ำประกัน จำนำ จำนอง
          7. คดีบัตรเครดิต
          8. คดีประกันภัย เช่น ประกันวินาศภัย ประกันชีวิต
          9. คดีที่เกิดจากสินค้าไม่ปลอดภัย เช่น ยา อาหาร เครื่องสำอาง ยานพาหนะ เครื่องใช้ไฟฟ้า
          10. คดีบริการสาธารณูปโภค เช่น ไฟฟ้า ประปา 
          11. คดีบริการสาธารณสุขและความงาม เช่น สถานบริการความงามและสุขภาพ
          12. คดีสื่อสารมวลชน เช่น วิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ อินเตอร์เน็ต
          13. คดีบริการด้านการศึกษา เช่น โรงเรียนกวดวิชา สถาบันสอนภาษา
          14. คดีด้านการกีฬา เช่น การให้เช่าสนามฟุตบอล สนามเทนนิส สนามกอล์ฟ
          15. คดีนิติบุคคลอาคารชุด ได้แก่ นิติบุคคลบ้านจัดสรร นิติบุคคลอาคารชุด

          การฟ้องคดีผู้บริโภค

          1.เขตอำนาจศาลผู้บริโภคหรือผู้เสียหายมีสิทธิ์ยื่นฟ้องผู้ประกอบธุรกิจต่อศาลที่ข้อมูลคดีเกิดหรือต่อศาลที่ผู้ประกอบธุรกิจมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลก็ได้ แต่ผู้ประกอบธุรกิจจะฟ้องผู้บริโภคได้แต่เฉพาะศาลที่ผู้บริโภคมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล ได้เพียงแห่งเดียวเท่านั้น
          2. ผู้บริโภคจะฟ้องคดีด้วยวาจาหรือเป็นหนังสือก็ได้
          3. ค่าฤชาธรรมเนียมศาลผู้บริโภคได้รับการยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวงตั้งแต่ยื่นฟ้องตลอดจนการดำเนินกระบวนพิจารณาใดๆ แต่ไม่รวมถึงความรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นที่สุด เว้นแต่ผู้บริโภคนำคดีมาฟ้องโดยไม่มีเหตุอันสมควรหรือเรียกร้องค่าเสียหายเกินสมควรหรือประพฤติตนไม่เรียบร้อยหรือดำเนินกระบวนพิจารณาอันมีลักษณะเป็นการประวิงคดีหรือที่ไม่จำเป็นหรือ มีพฤติการณ์อื่นที่ศาลเห็นสมควร ศาลอาจมีคำสั่งให้บุคคลนั้นชำระค่าฤชาธรรมเนียมที่ได้รับการยกเว้นทั้งหมดหรือแต่บางส่วนหากไม่ปฏิบัติตามศาลอาจมีคำสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความได้
          4. ถ้าโจทก์เป็นผู้ประกอบธุรกิจจะต้องเสียค่าธรรมเนียมศาลทั้งปวง จะไม่ได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียม

คดีศาลชำนัญพิเศษ

คดีแรงงาน

          คดีแรงงานที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงาน มีดังนี้

          1.คดีพิพาทเกี่ยวด้วยสิทธิหรือหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรง
งาน หรือตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ได้แก่
                   1.1 คดีพิพาทเกี่ยวด้วยสิทธิหรือหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงาน ซึ่งหมายถึง คดีที่มีการฟ้องร้องกันระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง โดยมีมูลเหตุมาจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ปฏิบัติตามสัญญาจ้างแรงงาน หน้าที่ตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
                   1.2 คดีพิพาทเกี่ยวด้วยสิทธิและหน้าที่ตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง หมายถึง คดีที่มีมูลเหตุนายจ้างกับลูกจ้าง หรือนายจ้างกับสหภาพแรงงาน ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง

          2.คดีพิพาทเกี่ยวด้วยสิทธิหรือหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน กฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์กฎหมายว่าด้วยแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์กฎหมายว่าด้วยกายจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน กฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม หรือกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน

          3.คดีกรณีที่จะต้องใช้สิทธิทางศาลตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานกฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ ตาม พรบ.แรงงานสัมพันธ์มาตรา 52

          4.คดีการอุทธรณ์คำวินิจฉัยของเจ้าพนักงานตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน ของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานตามของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนตามกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน

          5.คดีอันเกิดจากมูลละเมิดระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างสืบซึ่งมีมูลเหตุมากจากข้อพิพาทแรงงานหรือข้อที่เกี่ยวกับสัญญาจ้างแรงงาน ทั้งนี้ให้รวมถึงมูลละเมิดระหว่างลูกจ้างกับลูกจ้างจากการทำงานในทางการที่จ้างด้วย

          การฟ้องคดีต่อศาลแรงงาน สามารถกระทำได้ดังนี้
          1. ฟ้องด้วยวาจา ที่ศาลแรงงาน โดยศาลจะมีเจ้าหน้าที่/นิติกรให้คำแนะนำและดำเนินการให้
          2. ฟ้องเป็นหนังสือ ที่ศาลแรงงานเช่นเดียวกัน แต่ยื่นต่อศาลโดยให้ทนายความเป็นผู้ดำเนินการให้

          ทั้งนี้การฟ้องคดีแรงงานไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เนื่องจากตามพรบ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 27 ได้บัญญัติว่า “การยื่นคำฟ้องตลอดจนการดำเนินกระบวนพิจารณาใดๆ ในศาลแรงงานให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องชำระค่าฤชาธรรมเนียม”

คดีเยาวชนและครอบครัว

          คดีความที่อยู่ในเขตอำนาจการพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งของศาลเยาวชนและครอบครัวมีดังนี้
          1. คดีอาญาที่มีข้อหาว่าเด็กหรือเยาวชนกระทำผิด
              ได้แก่ คดีอาญาที่มีข้อหาว่าเด็กหรือเยาวชนกระทําความผิด โดยให้ถืออายุเด็กหรือเยาวชนนั้นในวันที่การกระทําความผิดได้เกิดขึ้น ได้แก่ “เด็ก” หมายความว่า บุคคลอายุยังไม่เกิน 15 ปีบริบูรณ์ และ “เยาวชน” หมายความว่า บุคคลอายุเกิน 15 ปีบริบูรณ์แต่ยังไม่ถึง 18 ปีบริบูรณ์

          2.คดีอาญาที่ศาลซึ่งมีอำนาจพิจารณาคดีธรรมดาได้โอนมาตามมาตรา 97 วรรคหนึ่ง
    พรบ.ศาลเยาวชนฯ มาตรา 97 วรรค 1 กำหนดว่า ในกรณีที่ศาลที่พิจารณาคดีธรรมดา พิจารณาโดยคำนึงถึงสภาพร่างกาย สภาพจิต สติปัญญาและนิสัย แล้วเห็นว่าบุคคลที่มีอายุเกิน 18 ปี แต่ไม่ถึง 20 ปี บริบูรณ์ มีสภาพเช่นเดียวกับเด็กและเยาวชน ให้ศาลนั้นมีคำสั่งโอนคดีมาให้พิจารณาคดีในศาลเยาวชนและครอบครัวได้โดยให้ถือว่าบุคคลดังกล่าว เป็นเด็กหรือเยาวชน
              และตามวรรค 2 กำหนดว่า ให้ศาลเยาวชนและครอบครัวมีอำนาจพิจารณาโอนย้ายคดีของเด็กและเยาวชนที่อายุยังไม่ถึง 18 ปี บริบูรณ์ แต่ศาลเยาวชนฯพิจารณาโดยคำนึงถึงสภาพร่างกาย สภาพจิต สติปัญญา และนิสัยแล้ว เห็นว่าในขณะกระทำความผิด หรือระหว่างการพิจารณาคดีบุคคลดังกล่าวมีสภาพเช่นเดียวกับบุคคลที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไปก็สามารถโอนคดีไปให้ศาลที่พิจารณาคดีบุคคลธรรมดาพิจารณาคดีได้
          3. คดีครอบครัว
              “คดีครอบครัว” หมายถึง คดีแพ่งที่ฟ้องหรือร้องขอต่อศาลหรือกระทำการใดๆต่อศาลเกี่ยวกับผู้เยาว์หรือครอบครัว ซึ่งจะต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์กฎหมายว่าด้วยการจดทะเบียนครอบครัว หรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องกับครอบครัว ได้แก่ คดีหย่า , คดีขอแบ่งสินสมรส , คดีอำนาจการปกครองบุตร , คดีเกี่ยวกับค่าเลี้ยงดูบุตร , คดีเกี่ยวกับค่าเลี้ยงดูสามีหรือภริยา , คดีขอให้รับรองบุตรฯ เป็นต้น
          4. คดีคุ้มครองสวัสดิภาพ
             คดีคุ้มครองสวัสดิภาพ ว่าหมายถึง คดีที่ฟ้องหรือร้องขอต่อศาลหรือกระทําการใดๆ ในทางศาลเกี่ยวกับการคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กหรือบุคคลในครอบครัวซึ่งจะ ต้องบังคับตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองเด็ก กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้ถูกกระทําด้วย ความรุนแรง ในครอบครัว หรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวกับการคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กหรือบุคคลใน ครอบครัว ซึ่งแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่
              1.คดีร้องขอให้ศาลคุ้มครองสวัสดิภาพผู้ถูกกระทําด้วยความรุนแรงในครอบครัว ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทําด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 และ พระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 171 ถึง มาตรา 178
              2.คดีร้องขอให้ศาลคุ้มครองสวัสดิภาพในกรณีที่มีการปฏิบัติต่อเด็กโดยมิชอบด้วยกฎหมายตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 ประกอบพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 179

              2.คดีอื่นที่มีกฎหมายบัญญัติให้เป็นอำนาจหน้าที่ของศาลเยาวชนและครอบครัว

คดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ

  ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งและคดีอาญาเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 ดังต่อไปนี้

          (1) คดีอาญาเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้า ลิขสิทธิ์ และสิทธิบัตร

          (2) คดีอาญาเกี่ยวกับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 271 ถึงมาตรา 275

          (3) คดีแพ่งเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้า ลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร และคดีพิพาทตามสัญญาถ่ายทอดเทคโนโลยี หรือสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ

          (4) คดีแพ่งอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 271 ถึงมาตรา 275

          (5) คดีแพ่งเกี่ยวกับการซื้อขาย แลกเปลี่ยนสินค้า หรือตราสารการเงินระหว่างประเทศ หรือการให้บริการระหว่างประเทศ การขนส่งระหว่างประเทศ การประกันภัยและนิติกรรมอื่นที่เกี่ยวเนื่อง

          (6) คดีแพ่งเกี่ยวกับเลตเตอร์ออฟเครดิตที่ออกเกี่ยวเนื่องกับกิจกรรมตาม (5) การส่งเงินเข้ามาในราชอาณาจักรหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักร ทรัสต์รีซีท รวมทั้งการประกันเกี่ยวกับกิจการดังกล่าว

          (7) คดีแพ่งเกี่ยวกับการกักเรือ

          (8) คดีแพ่งเกี่ยวกับการทุ่มตลาด และการอุดหนุนสินค้าหรือการให้บริการจากต่างประเทศ

          (9) คดีแพ่งหรือคดีอาญาที่เกี่ยวกับข้อพิพาทในการออกแบบวงจรรวม การค้นพบทางวิทยาศาสตร์ ชื่อทางการค้า ชื่อทางภูมิศาสตร์ที่แสดงถึงแหล่งกำเนิดของสินค้า ความลับทางการค้า และการคุ้มครองพันธุ์พืช

          (10) คดีแพ่งหรือคดีอาญาที่มีกฎหมายบัญญัติให้อยู่ในอำนาจของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ

          (11) คดีแพ่งเกี่ยวกับอนุญาโตตุลาการเพื่อระงับข้อพิพาทตาม (3) ถึง (10)

  คดีที่อยู่ในเขตอำนาจของศาลเยาวชนและครอบครัวไม่อยู่ในอำนาจของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ

คดีล้มละลาย

          พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 หมวด กำหนดขั้นตอนและกระบวนพิจารณาตั้งแต่การขอให้ล้มละลายจนถึงการปลดจากล้มละลาย ดังนี้
          มาตรา 7 ลูกหนี้ที่มีหนี้สินล้นพ้นตัวอาจถูกศาลพิพากษาให้ล้มละลายได้ ถ้าลูกหนี้นั้นมีภูมิลำเนาในราชอาณาจักรหรือประกอบธุระกิจในราชอาณาจักรไม่ว่าด้วยตนเองหรือโดยตัวแทนในขณะที่มีการขอให้ลูกหนี้ล้มละลาย หรือภายในกำหนดเวลาหนึ่งปีก่อนนั้น
          มาตรา 8 ถ้ามีเหตุอย่างหนึ่งอย่างใดดั่งต่อไปนี้เกิดขึ้นให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว
          (1) ถ้าลูกหนี้โอนทรัพย์สินหรือสิทธิจัดการทรัพย์สินของตนให้แก่บุคคลอื่นเพื่อประโยชน์แห่งเจ้าหนี้ทั้งหลายของตน ไม่ว่าได้กระทำการนั้นในหรือนอกราชอาณาจักร
          (2) ถ้าลูกหนี้โอนหรือส่งมอบทรัพย์สินของตนไปโดยการแสดงเจตนาลวง หรือโดยการฉ้อฉล ไม่ว่าได้กระทำการนั้นในหรือนอกราชอาณาจักร
          (3) ถ้าลูกหนี้โอนทรัพย์สินของตนหรือก่อให้เกิดทรัพย์สิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดขึ้นเหนือทรัพย์สินนั้น ซึ่งถ้าลูกหนี้ล้มละลายแล้ว จะต้องถือว่าเป็นการให้เปรียบ ไม่ว่าได้กระทำการนั้นในหรือนอกราชอาณาจักร
          (4) ถ้าลูกหนี้กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ เพื่อประวิงการชำระหนี้หรือมิให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้
                   ก. ออกไปเสียนอกราชอาณาจักร หรือได้ออกไปก่อนแล้วและคงอยู่นอกราชอาณาจักร
                   ข. ไปเสียจากเคหะสถานที่เคยอยู่ หรือซ่อนตัวอยู่ในเคหะสถาน หรือหลบไป หรือวิธีอื่น หรือปิดสถานที่ประกอบธุรกิจ
                   ค. ยักย้ายทรัพย์ไปให้พ้นอำนาจศาล
                   ง. ยอมตนให้ต้องคำพิพากษาซึ่งบังคับให้ชำระเงินซึ่งตนไม่ควรต้องชำระ
          (5) ถ้าลูกหนี้ถูกยึดทรัพย์ตามหมายบังคับคดี หรือไม่มีทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดที่จะพึงยึดมาชำระหนี้ได้
          (6) ถ้าลูกหนี้แถลงต่อศาลในคดีใด ๆ ว่าไม่สามารถชำระหนี้ได้
          (7) ถ้าลูกหนี้แจ้งให้เจ้าหนี้คนหนึ่งคนใดของตนทราบว่าไม่สามารถชำระหนี้ได้
          (8) ถ้าลูกหนี้เสนอคำขอประนอมหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ตั้งแต่สองคนขึ้นไป
          (9) ถ้าลูกหนี้ได้รับหนังสือทวงถามจากเจ้าหนี้ให้ชำระหนี้แล้วไม่น้อยกว่าสองครั้ง ซึ่งมีระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่าสามสิบวัน และลูกหนี้ไม่ชำระหนี้
          มาตรา 9 ภายใต้บังคับแห่งมาตรา 10 เจ้าหนี้จะฟ้องลูกหนี้ให้ล้มละลายได้ก็ต่อเมื่อ
          (1) ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว และ
          (2) ลูกหนี้เป็นหนี้เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์คนเดียวเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งพันบาท หรือเป็นหนี้เจ้าหนี้หลายคน ซึ่งเข้าชื่อกันเป็นโจทก์เป็นจำนวนรวมกันไม่น้อยกว่าหนึ่งพันบาท และ
          (3) หนี้นั้นอาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอน ไม่ว่าหนี้นั้นจะถึงกำหนดชำระโดยพลันหรือในอนาคตก็ตาม

คดีภาษีอากร

          ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 7 กำหนดว่า ศาลภาษีอากรมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งในเรื่องต่อไปนี้
          1) คดีอุทธรณ์คำวินิจฉัยของเจ้าพนักงานหรือคณะกรรมการตามกฎหมายเกี่ยวกับภาษีอากร
          2) คดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิเรียกร้องของรัฐในหนี้ค่าภาษีอากร
          3) คดีพิพาทเกี่ยวกับการขอคืนค่าภาษีอากร
          4) คดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ตามข้อผูกพันซึ่งได้ทำขึ้นเพื่อประโยชน์แก่การจัดเก็บภาษีอากร
          5) คดีที่มีกฎหมายบัญญัติให้อยู่ในอำนาจศาลภาษีอากร

คดีพิเศษอื่นๆ

         นอกจากคดีความดังที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ยังมีคดีความในศาลอื่นที่สำคัญสำหรับประเทศไทย คือ คดีปกครอง ซึ่งหมายถึง คดีที่เป็นข้อพิพาท ระหว่างหน่วยงานทางปกครอง หรือ เจ้าหน้าที่ของรัฐกับเอกชน หรือข้อพิพาท ระหว่างหน่วยงานทางการปกครอง หรือ เจ้าหน้าที่ของรัฐด้วยกันเอง

          ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 แบ่งออกได้เป็น 5 ประเภท คือ
          1. คดีพิพาทอันเนื่องมาจากการกระทำทางปกครองฝ่ายเดียว
          2. คดีพิพาทอันเนื่องมาจากการละเลยต่อหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร
          3. คดีพิพาทอันเนื่องมาจากการกระทำละเมิดทางปกครองหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือความเสียหายเกิดจากการออกกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น หรือเป็นกรณีที่หน่วยงานทางปกครองละเลยต่อหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร
          4. คดีพิพาทอันสืบเนื่องมาจากสัญญาทางปกครอง
          5. คดีพิพาททางปกครองอื่นๆ
          การฟ้องคดีปกครองได้บัญญัติหลักเกณฑ์วิธีการไว้ใน พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 และอีกส่วนหนึ่งกำหนดไว้ในระเบียบของที่ประชุมใหญ่
ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2543
          การเสนอคำฟ้อง การยื่นฟ้องต่อศาล จะต้องเป็นไปตามเงื่อนไข ดังต่อไปนี้
          1. เรื่องที่นำมาฟ้องต้องเป็นคดีปกครอง และต้องเป็น กรณีตามมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง
          2.ต้องยื่นฟ้องศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นหรือศาลที่ผู้ฟ้องคดีมีภูมิลำเนาอยู่เขตศาลนั้น
          3.คำฟ้องต้องทำเป็นหนังสือ ฟ้องด้วยวาจาไม่ได้ ใช้ถ้อยคำสุภาพ มีรายการตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 45 
          4.ผู้ฟ้องคดีต้องเป็นผู้ที่มีความสามารถในการทำนิติกรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
          5.ผู้ฟ้องคดีต้องเป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดีตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 276 ของ รัฐธรรมนูญ และมาตรา 42 พรบ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542
          6.ต้องยื่นฟ้องภายในระยะเวลาที่กำหนด
          7.ก่อนฟ้องคดีปกครองต้องดำเนินการแก้ไขความเดือดร้อน หรือความเสียหายตามขั้นตอนหรือวิธีการที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับการนั้นเสียก่อน
          8.การชำระค่าธรรมเนียมศาล (ตามที่กฎหมายกำหนด)