การลงทุน
สัญญาทางธุรกิจ
สัญญาร่วมทุน
1.ความหายของ “กิจการร่วมค้า”(Joint Venture) หรือ “การร่วมกันในลักษณะของกลุ่มบริษัท”(Consortium)
การประกอบธุรกิจในโครงการเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ จำเป็นต้องใช้เงินลงทุนเป็นจำนวนมาก ใช้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน และใช้เทคโนโลยีต่างๆมากมาย ผู้ประกอบการไม่สามารถดำเนินโครงการนั้นๆได้เพียงรายเดียว จึงมีความจำเป็นที่จะต้องร่วมลงทุนกับผู้ประกอบการรายอื่นเพื่อให้สามารถดำเนินโครงการต่างๆให้สำเร็จลุล่วงไปได้ การร่วมลงทุนระหว่างผู้ประกอบการอาจจะอยู่ในรูปแบบของ “กิจการร่วมค้า”(Joint Venture) หรือ “การร่วมกันในลักษณะของกลุ่มบริษัท”(Consortium)
“กิจการร่วมค้า” (Joint Venture) หมายถึง การที่บุคคลธรรมดา บริษัท หรือห้างหุ้นส่วนตั้งแต่สองฝ่ายขึ้นไป รวมตัวกันเพื่อดำเนินกิจการอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยตกลงแบ่งผลกำไรหรือขาดทุนของกิจการร่วมกันหรือตามสัดส่วนของการลงทุน
ประมวลรัษฎากรได้รับรู้ถึงการทำธุรกิจการค้าแบบ “กิจการร่วมค้า” เพื่อประโยชน์ของการเก็บภาษี โดยบัญญัติไว้ในมาตรา 39 ว่าคำว่า “บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล” หมายความว่า บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยหรือที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศและให้หมายความรวมถึงกิจการร่วมค้า ซึ่งได้แก่ กิจการที่ดำเนินการร่วมกันเป็นทางการค้าหรือหากำไรระหว่างบริษัทกับบริษัท บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลกับห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือระหว่างบริษัทและ/หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลกับบุคคลธรรมดา คณะบุคคลที่ไม่ใช่นิติบุคคล ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือนิติบุคคลอื่น
ประมวลรัษฎากรเพียงแต่ให้ถือว่า “กิจการร่วมค้า” ต้องเสียภาษีอย่างบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเท่านั้น แต่หาได้ให้ความหมายที่แน่นอน หรือกล่าวถึงสิทธิหน้าที่หรือความเกี่ยวพันระหว่างผู้ร่วมกิจการค้าด้วยกัน หรือกับบุคคลภายนอกไม่ ดังนั้น กิจการร่วมค้าจึงเป็นการตกลงทำธุรกิจการค้าที่ไม่มีแบบแน่นอนขึ้นอยู่กับข้อตกลงหรือสัญญาระหว่างผู้ร่วมกิจการหรือผู้ร่วมลงทุน (Joint Venture Agreement) และเนื่องจากเป็นคำที่ยังไม่มีกฎหมายให้ความหมายที่แน่นอนจึงอาจหมายถึงการร่วมกิจการอะไรกันก็ได้ที่ชอบด้วยกฎหมาย และอาจจะเรียกชื่อเป็นอย่างอื่นก็ได้ ประมวลรัษฎากรไม่ได้บังคับว่ากิจการร่วมค้าจะต้องทำการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล แต่ถ้าไปจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ก็จะมีสถานะเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากผู้ถือหุ้น ซึ่งถึงแม้จะไม่ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ก็ถือว่าเป็นหน่วยภาษีตามประมวลรัษฎากรที่จะต้องเสียภาษี ตามที่กล่าวแล้วข้างต้น
ฉะนั้น เมื่อกิจการร่วมค้ายังไม่มีกฎหมายรับรองฐานะและสิทธิหน้าที่ของผู้ร่วมกิจการ ผู้ร่วมกิจการดังกล่าวจะมีความผูกพันระหว่างกันและต่อบุคคลภายนอกอย่างไร ปัญหานี้คงต้องวินิจฉัยตามสัญญาหรือข้อตกลงระหว่างผู้ร่วมกิจการและทางปฏิบัติของผู้ร่วมกิจการซึ่งเป็นคู่สัญญากัน ตลอดจนการแสดงออกต่อบุคคลภายนอกด้วย แม้โดยทั่วไปผู้ร่วมกิจการค้าจะไม่เป็นตัวการตัวแทนซึ่งกันและกัน แต่ถ้ามีการมอบอำนาจให้ทำการแทนกันไม่ว่าโดยชัดแจ้งหรือปริยาย หรือมีการเชิดให้เป็นตัวแทนกัน ก็อาจต้องมีความรับผิดต่อบุคคลภายนอกอย่างตัวการตัวแทนได้ (โปรดพิจารณามาตรา 820, มาตรา 821 และมาตรา 822 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์) สำหรับสิทธิ ทรัพย์สิน และผลกำไรขาดทุนที่หามาได้ร่วมกันใครจะมีส่วนเท่าไรก็ย่อมเป็นไปตามข้อตกลง
ส่วนคำว่า “การร่วมกันในลักษณะของกลุ่มบริษัท” (Consortium) ไม่ใช่คำในกฎหมาย
(a “commercial” as opposed to a legal term) แต่เป็นคำที่ใช้กล่าวถึง “การรวมกันในลักษณะของกลุ่มบริษัท” ซึ่งในทางปฏิบัติจัดตั้งขึ้นมาเพื่อรับงานโครงการขนาดใหญ่จากรัฐบาลหรือเอกชน ไม่ว่าจะเป็นงานก่อสร้างสาธารณูปโภคหรือโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ (Infrastructure) เช่น ถนน ทางด่วน สะพาน รถไฟฟ้า หรืออาคาร หรืองานที่ปรึกษา ซึ่งจำเป็นต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญหลายสาขามารวมกัน เป็นต้น โดยผู้ประกอบการที่รวมกลุ่มกันนั้น ต่างแยกกันดำเนินการในโครงการเดียวกัน ไม่มีการแบ่งกำไรหรือขาดทุนของกิจการร่วมกัน ต่างฝ่ายต่างรับผิด ไม่มีการร่วมลงทุน ไม่ร่วมรับผิดในงานที่ทำ ค่าตอบแทนของแต่ละฝ่ายแยกออกจากกัน
2.รูปแบบของกิจการร่วมค้า (Joint Venture)
2.1 กิจการร่วมค้าที่ไม่ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล (Unincorporated Joint Venture) กิจการร่วมค้าในรูปแบบนี้เกิดขึ้น โดยอาศัยข้อตกลงในสัญญาร่วมลงทุนเป็นหลัก (Contractual Joint Venture) เนื่องจากไม่ได้จดทะเบียนจัดตั้งขึ้นเป็นบริษัทหรือนิติบุคคลใหม่แยกต่างหากจากผู้ร่วมลงทุนแต่ละราย
2.2 กิจการร่วมค้าที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล (Incorporated Joint Venture กิจการร่วมค้าในรูปแบบนี้เป็นกิจการร่วมค้าที่จัดตั้งขึ้น โดยการจดทะเบียนเป็นบริษัทหรือนิติบุคคลใหม่แยกต่างหากจากผู้ถือหุ้นหรือผู้ร่วมลงทุนแต่ละราย และมักจัดตั้งขึ้นเพื่อประกอบกิจการตามวัตถุประสงค์ที่ผู้ร่วมลงทุนทุกรายร่วมกันกำหนดในระยะยาว มากกว่าการตั้งขึ้นมาเพื่อรับงานในโครงการใดโครงการหนึ่งเป็นการเฉพาะ
3.วัตถุประสงค์ของ Joint Venture และ Consortium
3.1 เงินลงทุนในกิจการหรือโครงการขนาดใหญ่ที่จำเป็นต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก ผู้ประกอบการแต่ละฝ่ายอาจไม่สามารถจัดหาเงินทุนได้เพียงพอ จึงต้องเข้าร่วมลงทุนกับผู้ประกอบการรายอื่นๆ และกรณีที่ต้องขอสินเชื่อจากสถาบันการเงิน การร่วมลงทุนดังกล่าวก็เป็นการสร้างความเชื่อถือหรือเครดิตแก่สถาบันการเงินผู้ปล่อยสินเชื่ออีกด้วย
3.2 ความรู้ความชำนาญ เทคโนโลยี ประสบการณ์ ผลงาน และทรัพยากรทางธุรกิจ (เช่น ใบอนุญาต หรือหนังสือรับรองการเป็นผู้รับจ้างที่ขึ้นทะเบียนไว้กับหน่วยงานของทางราชการ) กิจการหรือโครงการที่ทำนั้นต้องอาศัยความรู้ความชำนาญ เทคโนโลยี ประสบการณ์ ผลงาน และทรัพยากรทางธุรกิจต่างๆ หลายอย่างประกอบกัน ซึ่งผู้ประกอบการแต่ละรายขาดความรู้ความชำนาญ เทคโนโลยี ประสบการณ์ ผลงาน หรือทรัพยากรทางธุรกิจบางอย่างในการปฏิบัติงาน จึงต้องร่วมลงทุนกับผู้ประกอบการรายอื่นๆ ที่มีความรู้ความชำนาญ เทคโนโลยี ประสบการณ์ ผลงาน หรือทรัพยากรทางธุรกิจที่ตนยังขาดอยู่
3.3 การกระจายความเสี่ยงในกิจการหรือโครงการขนาดใหญ่ที่จำเป็นต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมากมีความเสี่ยงต่อการลงทุนเพียงรายเดียว แม้ว่าผู้ประกอบการรายนั้นไม่มีปัญหาทางด้านเงินลงทุนก็ตาม จึงต้องร่วมลงทุนกับผู้ประกอบการรายอื่นๆ เพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยง
3.4 การลดการแข่งขันทางธุรกิจการเข้าร่วมลงทุนระหว่างผู้ประกอบการที่ต่างมีศักยภาพและความสามารถในการแข่งขันที่ใกล้เคียงหรือเท่าเทียมกันก็จะเป็นการลดการแข่งขันและเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ โดยทำให้ผู้ประกอบการแต่ละรายดังกล่าวสามารถได้รับงานที่จ้างตามความมุ่งหมายของตนได้
3.5 การปฏิบัติงานที่จ้างในโครงการซึ่งอยู่ในต่างประเทศ ข้อกำหนดในการประกวดราคา หรือการจัดจ้างงานในโครงการที่จะต้องดำเนินงานในต่างประเทศ (Terms of Reference หรือ TOR) มักกำหนดให้ผู้เสนอราคาที่เป็นบริษัทจดทะเบียนในประเทศไทยต้องมีบริษัทต่างประเทศร่วมค้าเป็นผู้ร่วมดำเนินงานในประเทศนั้นๆ
การส่งเสริมการลงทุนและสิทธิประโยชน์ (BOI)
การส่งเสริมการลงทุนและสิทธิประโยชน์ หรือ BOI (Board of Investment) หรือ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน มีหน้าที่และความรับผิดชอบในการส่งเสริมการลงทุนทั้งในประเทศและการลงทุนของไทยในต่างประเทศ เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้ประเทศของเราก้าวพ้นการเป็นประเทศที่มีรายได้ระดับปานกลาง (Middle Income Trap) ไปจนถึงเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนทางเศรษฐกิจ
1.สิทธิประโยชน์เมื่อได้รับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI
1.1 สิทธิประโยชน์ด้านภาษี
1.ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุด 13 ปี (ขึ้นกับประเภทกิจการและเงื่อนไข)
2.ลดหย่อนภาษีเงินได้ 50% อีก 5 ปี (เฉพาะเขตส่งเสริมการลงทุน)
3.ยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร
4.ยกเว้นอากรขาเข้าวัตถุดิบผลิตเพื่อการส่งออก
5.ยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับของที่นำเข้ามาเพื่อใช้ในการวิจัยและพัฒนา
1.2 สิทธิประโยชน์ที่ไม่เกี่ยวกับภาษี
1.อนุญาตให้ต่างชาติถือหุ้น 100% (ยกเว้นกิจการตามบัญชีหนึ่งท้ายพระราชบัญญัติประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวหรือที่มีกฎหมายอื่นกำหนดไว้เป็นการเฉพาะ)
2.อนุญาตให้ถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดิน
3.อนุญาตให้ช่างฝีมือ/ผู้ชำนาญการเข้ามาทำงาน
2.ประเภทกิจการที่ BOI ให้การส่งเสริมการลงทุนมีทั้งหมด 8 ประเภท ได้แก่
- เกษตรกรรมและผลิตผลจากการเกษตรเช่น กิจการปลูกไม้เศรษฐกิจ, กิจการปุ๋ยชีวภาพและปุ๋ยเคมี, กิจการด้านการเกษตรกรรมต่าง ๆ
2. แร่ เซรามิกส์ และโลหะขั้นพื้นฐาน เช่น กิจการเหมืองแร่ ตัดและผลิตโลหะ, กิจการผลิตแก้วและเซรามิคส์
3. อุตสาหกรรมเบา เช่น กิจการสิ่งทอ, กิจการผลิตกระเป๋าหรือรองเท้า, กิจการผลิตของเล่น
4. ผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักร และอุปกรณ์ขนส่ง เช่น กิจการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์และเครื่องจักร
5. อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เช่น กิจการซอฟท์แวร์และการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์
6. เคมีภัณฑ์ พลาสติก และกระดาษ เช่น กิจการผลิตบรรจุภัณฑ์จากกระดาษ, กิจการผลิตยา, กิจการผลิตพอลิเมอร์
7. การบริการและสาธารณูปโภค เช่น กิจการผลิตพลังงานไฟฟ้าหรือพลังงานไฟฟ้าและไอน้ำจากขยะ หรือเชื้อเพลิงจากขยะ, กิจการนิคมและการพัฒนา, กิจการ Cloud service
8. การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม เช่น กิจการพัฒนาไบโอเทคโนโลยี, กิจการพัฒนานาโนเทคโนโลยี, กิจการพัฒนาดิจิทัลเทคโนโลยี
3.หลักเกณฑ์การอนุมัติโครงการของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือ BOI มีดังนี้
1. การพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการ
– ต้องมีมูลค่าเพิ่มไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของรายได้ ยกเว้นกิจการเกษตรกรรมและผลิตผลจากการเกษตร กิจการอิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วนและกิจการตัดโลหะ ต้องมีมูลค่าเพิ่มไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ของรายได้
– ต้องมีกรรมวิธีการผลิตที่ทันสมัย
– ต้องใช้เครื่องจักรใหม่ กรณีการใช้เครื่องจักรใช้แล้วจากต่างประเทศ มีหลักเกณฑ์ดังนี้
1.1 เครื่องจักรใช้แล้วที่จะได้รับอนุญาตให้ใช้ในโครงการ และให้นับเป็น เงินลงทุนสำหรับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล แต่ไม่ได้รับยกเว้นอากรขาเข้า ต้องมีอายุไม่เกิน 5 ปี นับตั้งแต่ปีที่ผลิตถึงปีที่นำเข้า โดยต้องได้รับใบรับรองจากสถาบันที่เชื่อถือได้ ในด้านประสิทธิภาพของเครื่องจักร ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและการใช้พลังงาน รวมทั้งการประเมินราคาที่เหมาะสม
1.2 สำหรับเครื่องจักรใช้แล้วที่มีอายุเกิน 5 ปี แต่ไม่เกิน 10 ปี นับตั้งแต่ปีที่ผลิตถึงปีที่นำเข้า ที่จะได้รับอนุญาตให้ใช้ในโครงการ และให้นับเป็นเงินลงทุนสำหรับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล แต่ไม่ได้รับยกเว้นอากรขาเข้า ได้แก่ เครื่องปั๊มเท่านั้น โดยต้องได้รับใบรับรองจากสถาบันที่เชื่อถือได้ ในด้านประสิทธิภาพของเครื่องจักร ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและการใช้พลังงาน รวมทั้งการประเมินราคาที่เหมาะสม
1.3 สำหรับกิจการขนส่งทางเรือ กิจการขนส่งทางอากาศ และแม่พิมพ์ จะอนุญาตให้ใช้เครื่องจักรใช้แล้วที่มีอายุเกิน 10 ปีในโครงการได้ตามความเหมาะสม โดยให้ได้รับยกเว้นอากรขาเข้า และให้นับเป็นเงินลงทุนสำหรับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล
- เงินลงทุนขั้นต่ำและความเป็นไปได้ของโครงการ
2.1 ต้องมีเงินลงทุนขั้นต่ำของแต่ละโครงการไม่น้อยกว่า 1 ล้านบาท (ไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน) เว้นแต่กรณีที่กำหนดไว้เป็นการเฉพาะในบัญชีประเภทกิจการที่ให้การส่งเสริมการลงทุนท้ายประกาศทั้งนี้
2.2 สำหรับกลุ่มธุรกิจบริการที่ใช้ฐานความรู้เป็นปัจจัยหลักในการดำเนินธุรกิจ ให้พิจารณาเงินลงทุนขั้นต่ำจากเงินเดือนบุคลากรต่อปี ซึ่งจะกำหนดไว้เป็นการเฉพาะในบัญชีประเภทกิจการที่ให้การส่งเสริมการลงทุน
2.3 ต้องมีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนจดทะเบียนไม่เกิน 3 ต่อ 1 สำหรับโครงการริเริ่ม ส่วนโครงการขยายจะพิจารณาตามความเหมาะสมเป็นรายกรณี
2.4 โครงการที่มีเงินลงทุน (ไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน) มากกว่า 750 ล้านบาท ต้องเสนอรายละเอียดรายงานการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการตามที่คณะกรรมการกำหนด
การถือครองอสังหาริมทรัพย์ของคนต่างด้าว
โดยหลักแล้วคนต่างด้าวไม่สามารถถือครองอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยได้ แต่ก็มีบางกรณีที่กฎหมายกำหนดให้คนต่างด้าวอาจถือครองอสังหาริมทรัพย์ ที่ดิน หรือคอนโดมีเนียมในประเทศไทยได้โดยเป็นไปตามเงื่อนไขตามที่กฎหมายกำหนด ดังต่อไปนี้
1. กรณีคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยให้ได้มาซึ่งที่ดินเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 96 ทวิ ประกอบกับกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการได้มาซึ่งที่ดินเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยของคนต่างด้าว พ.ศ. 2545 โดยมีเงื่อนไขในการอนุญาตว่าต้องนำเงินมาลงทุนในธุรกิจหรือกิจการที่กำหนดเป็นจำนวนไม่ต่ำกว่า 40 ล้านบาท และต้องดำรงการลงทุนไว้ไม่น้อยกว่า 5 ปี และที่ดินที่จะได้มาต้องอยู่ภายในเขตกรุงเทพมหานคร เขตเมืองพัทยา หรือเขตเทศบาล หรืออยู่ภายในบริเวณที่กำหนดเป็นเขตที่อยู่อาศัยตามกฎหมายว่าด้วยการผังเมือง
2. กรณีบริษัทต่างชาติที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนได้รับอนุญาตให้ถือกรรมสิทธิที่ดินเพื่อประกอบกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขภายใต้พระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520
3. กรณีผู้ประกอบอุตสาหกรรมต่างชาติได้รับอนุญาตให้ถือครองกรรมสิทธิที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมเพื่อประกอบกิจการตามพระราชบัญญัตินิคมอุตสาหกรรม พ.ศ. 2522
4. กรณีผู้ประกอบกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษซึ่งเป็นนิติบุคคลต่างด้าวที่ได้รับการส่งเสริมสามารถถือกรรมสิทธิในที่ดินภายในเขตส่งเสริมดังกล่าวเพื่อประกอบกิจการที่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 (EEC)
5. คนต่างด้าวหรือนิติบุคคลต่างด้าวที่ถือครองกรรมสิทธิ์ห้องชุดรวมกันในอัตราส่วนไม่เกิน 49% ของเนื้อที่ห้องชุดทั้งหมดในอาคารชุดนั้นๆ ตามหลักเกณฑ์ที่พระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ. 2522 กำหนด
สำหรับการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือที่ดินต้องไปตามประมวลกฎหมายที่ดิน ซึ่งแม้ว่าบุคคลที่ได้มาจะไม่ใช่คนต่างด้าว แต่ก็มีข้อควรพิจารณา ดังนี้
1. บริษัทที่มีหุ้นอันเป็นทุนจดทะเบียนถือโดยคนต่างด้าวเกินกว่าร้อยละ 49 ของทุนจดทะเบียนหรือผู้ถือหุ้นเป็นคนต่างด้าวเกินกว่ากึ่งจำนวนผู้ถือหุ้น จะถือเป็นคนต่างด้าวตามกฎหมายที่ดินซึ่งต้องห้ามมิให้ถือที่ดิน ในทางปฏิบัติ เจ้าพนักงานที่ดินจะตรวจสอบว่าบริษัทที่จะขอจดทะเบียนได้มาซึ่งที่ดินมีสัดส่วนคนต่างด้าวเกินกว่าเกณฑ์ดังกล่าวหรือไม่ รวมทั้งมีอำนาจสอบสวนในกรณีที่มีเหตุน่าสงสัยว่าคนไทยที่ถือหุ้นในบริษัทนั้นๆ ถือหุ้นแทนคนต่างด้าวหรือไม่ มีข้อสังเกตว่า ที่ผ่านมามีบางบริษัทที่เลี่ยงข้อกฎหมายดังกล่าว โดยการออกหุ้นบุริมสิทธิที่กำหนดให้มีสิทธิออกเสียงมากกว่าหุ้นสามัญให้คนต่างด้าวถือในสัดส่วนที่ไม่เกิน 49% เพื่อให้บริษัทนั้นไม่เข้าเกณฑ์เป็นคนต่างด้าวตามกฎหมายที่ดินในขณะที่คนต่างด้าวมีสิทธิออกเสียงมากกว่าคนไทยที่ถือหุ้นในสัดส่วนที่มากกว่า หรือกลับกันบางบริษัทอาจให้คนไทยถือหุ้นไม่น้อยกว่า 51% เป็นหุ้นบุริมสิทธิที่มีสิทธิบางอย่างเหนือกว่าแต่มีสิทธิออกเสียงด้อยกว่าหุ้นสามัญข้างน้อยที่ถือโดยคนต่างชาติ เพื่อให้คนต่างด้าวมีสิทธิออกเสียงมากกว่าคนไทยที่ถือหุ้นในสัดส่วนที่มากกว่า ซึ่งการหลีกเลี่ยงข้อกฎหมายดังกล่าวนั้น เป็นไปได้เนื่องจากบทบัญญัติมาตรา 97 ของประมวลกฎหมายที่ดิน มุ่งพิจารณาเพียงสัดส่วนการถือหุ้นของคนต่างด้าวในบริษัทเท่านั้น
2. กรณีคนไทยที่มีคู่สมรสโดยชอบหรือมิชอบด้วยกฎหมายเป็นคนต่างด้าว หากนำเงินสินสมรสหรือเงินที่ทำมาหาได้ร่วมกันมาซื้อที่ดิน ที่ดินดังกล่าวย่อมเป็นสินสมรสหรือทรัพย์สินที่หาได้ร่วมกันตามกฎหมาย และทำให้คู่สมรสต่างด้าวมีส่วนเป็นเจ้าของที่ดินด้วย อันเป็นการต้องห้ามตามกฎหมายที่ดิน ดังนั้น ในทางปฏิบัติในการจดทะเบียนได้มาซึ่งที่ดิน คู่สมรสที่เป็นคนไทยจะต้องแสดงหลักฐานว่าเงินที่นำมาซื้อที่ดินเป็นสินส่วนตัวหรือเงินส่วนตัว ทั้งต้องไม่ปรากฏพฤติการณ์ว่าเป็นการหลีกเลี่ยงกฎหมายที่ดิน จึงจะขอจดทะเบียนซื้อที่ดินได้
3. กรณีชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูง 4 กลุ่ม ได้แก่
1.กลุ่มประชากรผู้มีความมั่งคั่งสูง
2.กลุ่มผู้เกษียณอายุจากต่างประเทศ
3.กลุ่มที่ต้องการทำงานจากประเทศไทย และ
4. กลุ่มผู้เชี่ยวชาญพิเศษ รวมถึงผู้ติดตามของคนต่างด้าว (คู่สมรสและบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งมีอายุไม่เกิน 20 ปีจำนวนไม่เกิน 4 คน)
โดยสามารถพำนักและทำงานในประเทศไทยได้ โดยกลุ่มเหล่านี้จะได้รับอนุญาตให้เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษเพื่อการพำนักระยะยาว (Long-term resident visa : LTR Visa) อายุการตรวจลงตรา 10 ปี หรือมีอายุวีซ่าอยู่อาศัยได้ 10 ปี เสียค่าธรรมเนียมครั้งเดียวในอัตรา 50,000 บาท (จากเดิม 100,000 บาท) และสามารถยื่นคำขอใบอนุญาตทำงานตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว
บริการด้านอื่นๆ
นอกจากบริการเกี่ยวกับการลงทุนข้างต้นแล้ว บริษัทยังให้บริการในด้านการลงทุนของคนต่างชาติในทุกรูปแบบอีกด้วย